![]() |
เรื่องโดย : Ueki Takako |
สวัสดีค่ะ ไม่ได้เจอกันตั้งเดือนนึง คิดถึงกันบ้างรึเปล่าเอ่ย สำหรับคุณผู้อ่านที่อ่านคอลัมน์นี้อยู่หลายๆคนคงเรียนจบมีการมีงานทำกันแล้ว วันนี้ก็เลยมีคำถามอยากจะถามสักข้อนึงค่ะ ว่าทุกคนรับปริญญากันตอนเดือนอะไรคะ?
ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องการรับปริญญาก็จะเป็นที่รู้กันว่ามักจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปีค่ะ ไม่ใช่แค่ระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้นนะคะ พิธีรับประกาศนียบัตรของโรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม ก็จะจัดขึ้นในเดือนนี้เช่นกันค่ะ เรียกได้ว่าเป็นเดือนที่มีภาพลักษณ์ของการเป็น "“ฤดูกาลจบการศึกษา กันเลยทีเดียว แต่ว่าที่ไทยดูเหมือนจะไม่ใช่เช่นนั้นสินะคะ
ได้ยินมาว่าที่ประเทศไทยเนื่องจากผู้เข้ารับปริญญาบัตรจะต้องเข้ารับจากพระหัตถ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทีละคน จึงมักจะจัดพิธีรับปริญญาหลังจากจบการศึกษาจริงหนึ่งปี เพื่อกำหนดวันพิธีรับปริญญาให้ตรงกับตารางงานของพระบรมวงศานุวงศ์นั่นเอง ดูเหมือนว่าที่ประเทศไทยจะไม่มี “ฤดูรับปริญญา” ที่แน่นอนในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น จะส่งตัวแทนนักเรียนหรือประธานนักเรียน ขึ้นรับประกาศนียบัตรจากอธิการบดี (หรือไม่ก็ให้ตัวแทนแต่ละคณะขึ้นรับจากคณบดี) ดังนั้นถึงแม้ทุกๆมหาวิทยาลัยจะจัดพิธีในปลายเดือนมีนาคมพร้อมกัน ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
พิธีรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยคันไซกะกุอิน
และอีกอย่างพิธีดังกล่าวไม่ใช่การรับทีละคน ดังนั้นพิธีก็จะไม่กินเวลายาวนานค่ะ เผลอแป๊ปเดียวก็จบสิ้นพิธีการแล้ว แต่พิธีการของประเทศไทยนั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติมากเพราะได้รับจากพระหัตถ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทีละคนซึ่งต่างจากที่ญี่ปุ่นมาก ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงตกใจมากเลยค่ะ ที่ก่อนมีพิธีการคนไทยต้องมีงานซ้อมใหญ่เพื่อฝึกฝนทบทวนท่าทางการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรด้วย หลายๆคนก็นำเอารูปถ่ายตอนที่ตัวเองรับพระราชทานปริญญาบัตรประดับตกแต่งที่บ้านด้วยใช่ไหมคะ
พอตัวดิฉันเองมาที่ประเทศไทย ไม่นานนักก็มีโอกาสได้ไปงานรับพระราชทานปริญญาบัตรของเพื่อนบ้าง มีหลายเรื่องเลยค่ะที่ฉันประหลาดใจมาก
1. เรื่องที่ญาติๆเข้าไปในหอประชุมไม่ได้ ต้องรออยู่ข้างนอกหอประชุมตลอดพิธีการ (แถมงานก็กินเวลายาวนานมากกก)
2. เรื่องที่ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับปริญญาจะมีช่างภาพของตัวเองไป
3. บริเวณใกล้ๆที่จัดงาน จะมีดอกไม้และตุ๊กตาวางเรียงรายขายเต็มไปหมด
4. คนอื่นนอกเหนือจากผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่มาร่วมงานมักแต่งตัวธรรมดา
ช่างภาพมืออาชีพ!
ที่ทึ่งสุดๆเห็นจะเป็นเรื่องช่างภาพมืออาชีพนี่แหละค่ะ (คนที่ไม่ใช่ก็มี...) เรื่องที่คนไทยชอบการถ่ายรูปนี่ ดิฉันเองก็พอจะทราบมาบ้างนะคะ แต่การที่จ้างช่างภาพมืออาชีพมาถ่ายในงานรับปริญญาเนี่ยเป็นอะไรที่น่าตกตะลึงมาก เห็นแล้วก็เหมือนกำลังถ่ายภาพ Pre-Wedding งานแต่งงานเลยล่ะค่ะ ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นก็คงจะถ่ายกันเอง หรือไม่ก็ให้ญาติๆที่มาร่วมงานสลับๆกันถ่ายค่ะ เท่าที่จำได้ดิฉันก็ไม่เคยไปร่วมงานรับปริญญาของเพื่อนคนญี่ปุ่นเลยนะคะ
ชุดครุยแบบต่างๆของแต่ละมหาลัย
ในส่วนของเครื่องแต่งกายของไทยและญี่ปุ่นก็ต่างกันมากค่ะ ของไทยนั้นได้ยินมาว่าเป็นชุดกาวน์ที่เรียกกันว่า “ชุดครุย” ใส่คลุมไว้ด้านนอก ชุดครุยนี้แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีรูปแบบที่คล้ายกัน แต่ละคณะก็มีสีสันแตกต่างกันออกไป
ชุดฮาคามะสีและรูปแบบต่างๆ
ทีนี้ถ้าจะถามว่าที่ญี่ปุ่นล่ะใส่อะไรกัน มหาลัยที่ญี่ปุ่นไม่มีเครื่องแบบนักศึกษาค่ะ ดังนั้นก็ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าต้องใส่ชุดอะไร แต่ที่นิยมใส่กันในหมู่นักศึกษาชายก็เห็นจะเป็นชุดสูท ของนักศึกษาหญิงก็ใส่ชุดฮาคามะกันเป็นส่วนใหญ่ค่ะ (คนที่ใส่สูทก็มีค่ะ) ส่วนตัวดิฉันเองก็รับปริญญามาหลายปีแล้ว (55555) ก็ใส่ชุดฮาคามะเข้าร่วมงานค่ะ ถ้าจำไม่ผิดชุดฮาคามะนี่ใส่ครั้งเดียวในชีวิตตอนรับปริญญานี่แหละค่ะ
ที่ญี่ปุ่นสำหรับคนที่เรียนจบแล้วทำงานทันที ส่วนใหญ่จะเริ่มงานกันในวันที่1เมษายนหลังจากจบการศึกษาค่ะ ดังนั้นหลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับปริญญาในเดือนมีนาคมแล้ว ที่ญี่ปุ่นจึงไม่มีการลาหยุดงานเพื่อไปเข้ารับปริญญาค่ะ แต่ทว่าที่ประเทศไทยการลาหยุดงานเพื่อไปเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นเรื่องปกติมากๆ คิดว่านี่เป็นจุดหนึ่งทางวัฒนธรรมที่ประเทศไทยต่างจากชาวญี่ปุ่นอีกอย่างนะคะ แต่จะว่าไปงานรับปริญญาของไทยก็เป็นโอกาสที่ดีที่เพื่อนๆสมัยเรียนมหาวิทยาลัยจะได้มารวมตัวกันนะคะ คนที่จะเข้ารับปริญญาในรุ่นต่อๆไป แม้ว่าต้องลางาน อย่างไรก็จะต้องไปเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรให้ได้สินะคะ?
ขอบคุณรูปภาพประกอบ
http://www.bangkoknavi.com/special/5038981
http://tamsang_photo.weloveshopping.com
http://www.bangkoknavi.com/special/5004541
http://ccttravel.blog.fc2.com/blog-entry-220.html
http://216.87.162.75/article.aspx?categoryid=19&columnid=622
http://www.kwansei.ac.jp/news/2013/news_20130318_007560.html
http://www.hakama-rental.com/
http://hohopalette.blog.fc2.com/blog-entry-93.html
http://matome.naver.jp/odai/2136117722180711701/2136133635911552903